ฉนวนกันความร้อน/ฉนวนประหยัดพลังงาน
ในสภาวะที่โลกของเรากำลังร้อนขึ้นทุกวันอย่างเช่นทุกวันนี้ ภูมิอากาศของแต่ละภาคส่วนของประเทศก็ทวีความอบอ้าวและมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกที
ดังนั้นการ ป้องกันความร้อน เข้าสู่อาคารบ้านเรือน หรือที่ที่เราอยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นทุกวัน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในบ้านเย็นกายเย็นใจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำความเย็นให้กับบ้านของเราอีกด้วยปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่กำลังสร้างบ้าน อาคารต่าง ๆ นอกจากจะออกแบบให้รูปทรงของสิ่งก่อสร้างมีความสวยงามทันสมัยสมใจผู้ที่เป็นเจ้าของแล้ว มักจะให้ความสำคัญในการออกแบบบ้านและอาคารเหล่านั้นให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี แสงพอเหมาะ และป้องกันความร้อนสะสม เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานอีกด้วย การเลือกใช้ ฉนวนกันความร้อน ให้กับอาคารบ้านเรือนจึงเป็นสาระที่น่ารู้อีกเรื่องหนึ่งที่นำมาบอกกัน
ความหมายของฉนวนความร้อนหรือฉนวนกันความร้อน
ฉนวนเป็นวัตถุหรือวัสดุที่นำมาใช้หุ้มท่อ หุ้มถังหรือเพื่อป้องกันความร้อนสูญเสียทำให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประหยัดพลังงาน และเพื่อความปลอดภัยนั่นเองค่ะ โดยธรรมชาติแล้ว ความร้อนจะเคลื่อนที่ จากที่อุณหภูมิสูง ไปยังที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเสมอ หลักการทำงานของ ฉนวนกันความร้อนก็คือ ทำหน้าที่ชะลอการเคลื่อนที่ของความร้อนนี้ซะ ซึ่งวัสดุฉนวนกันความร้อน ที่ใช้งานกันทั่วไปได้แก่ พียูโฟม สีสะท้อนความร้อนเซรามิคโค้ตติ้ง และ
พีอีโฟม เป็นต้น
หลักในการเลือกฉนวนความร้อน หรือฉนวนกันความร้อนมีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ค่าการนำความร้อน (Thermal Conductivity) ค่าที่ต่ำกว่าจะลดการสูญเสียพลังงานได้ดีกว่า
2. กำลังการอัดบีบ (Compressive Strength) ควรเลือกที่ฉนวนไม่เสียรูปทรงมาก โดยเทียบจากปริมาณการเสียรูปทรงของฉนวนต่างๆที่ค่าเดียวกันว่ารับกำลังการอัดบีบได้เท่าไร
3. ความทนต่อการติดไฟ
4. โครงสร้างเซลล์ซึ่งจะเป็นสิ่งกำหนดว่าฉนวนจะดูดซับความชื้นยากง่ายเพียงไร
5. รูปแบบของฉนวน กล่าวคือ ความหนาและรูปทรง ซึ่งจะเป็นสิ่งกำหนดว่าฉนวนมีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพียงไร
คุณสมบัติของ ฉนวนความร้อน แต่ละชนิด
1 ) วัสดุฉนวนแบบโฟม เช่น โพลียูรีเทนโฟม โฟมพอลิเอทิลีน มีข้อดีคือ สามารถคงสภาพได้ แม้จะโดนน้ำหรือความชื้น ทนทานต่อกรดและด่างได้เป็นอย่างดี
2 ) วัสดุฉนวนใยแก้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ไมโครไฟเบอร์ มีโพรงอากาศเล็กๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างเส้นใยแก้ว จะทำหน้าเก็บกักความร้อนไว้ และลดการส่งถ่ายความร้อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้โพรงอากาศเล็กๆ เหล่านั้นสามารถลดทอน พลังงานเสียงที่ผ่านเข้ามา ให้เหลือพลังงาน ที่สะท้อนออกไปน้อยลง วัสดุฉนวนใยแก้วจัดเป็น ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงที่มีประสิทธิภาพ มีความอ่อนตัว และคืนตัวดี สามารถทนไฟได้ประมาณ 300 องศาเซลเซียส ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ใยแก้วเป็นอันตราย ต่อสุขภาพหรือไม่ จึงยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป
3 ) วัสดุฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ มีความมันวาวของผิวแผ่นฟอยล์ มีสมบัติในการสะท้อนความร้อน ข้อดีคือทนความชื้น ไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ไม่ฉีกขาดง่าย
4 ) วัสดุฉนวนใยหิน จัดเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ไม่มีสารประกอบของ แอสเบสตอส (Asbestos) จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ สมบัติในการกันความร้อน และดูดซับเสียง เทียบเท่ากับฉนวนใยแก้ว แต่สามารถทนไฟได้ดีกว่า ทั้งวัสดุฉนวนชนิดใยแก้ว และใยหิน มีข้อด้อยคือไม่ทนทานต่อความเปียกชื้น